วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

คอลัมน์: วิทยาศาสตร์สำหรับ
เยาวชน: อาหารจากสาหร่ายขนาดเล็ก

สาหร่ายขนาดเล็กหรือจุลสาหร่าย (microalgae) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายพืช เช่น มีการสังเคราะห์แสง ซึ่งเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็น พลังงานเคมีในรูปอาหารได้ สาหร่ายขนาดเล็กมีหลายสีซึ่งเกิดจากสารอาหารต่างๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต และรงควัตถุ (pigment) ซึ่งสารเหล่านี้เป็นตัวปกป้องสาหร่ายให้มีการดำรงชีวิตมายาวนานหลายพันล้านปี ถึงแม้ว่าสาหร่ายจะมีขนาดเล็กแต่สามารถสร้างสารอาหารที่มีประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตได้ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาคุณค่าอาหารจากสาหร่ายขนาดเล็กจำนวนมากและได้รายงานว่าสาหร่ายขนาดเล็กประกอบไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร เอนไซม์ วิตามิน และ แร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินเอ ซี บี1 บี2 ไนอะซีน ไอโอดีน โพแทสเซียม เหล็ก แมงกานีส และแคลเซียม เป็นต้น ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีมักนำสาหร่ายมาเป็นแหล่งอาหารหลัก สาหร่ายที่นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหาร เช่น สาหร่ายคลอเรลลา (Chlorella) ฮีมาโตคอกคัส (Hematococcus) หรือแม้แต่สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เช่น สาหร่ายสไปรูลินา (Spirulina)
     สาหร่าย​คลอเรลลา เป็นสาหร่ายเซลล์เดียว (single cell) มีลักษณะรูปทรงกลมหรือรี มีสีเขียว สาหร่ายชนิดนี้ มีปริมาณโปรตีนสูงประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ มีการ เพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ในประเทศไต้หวันและญี่ปุ่น นิยมนำมา บริโภคในรูปแบบของอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นยังใช้เติมลงไปในน้ำผลไม้ นม ชา ซุป บะหมี่ คุกกี้ เค้ก และไอศกรีม เป็นต้น เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารของผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม สาหร่ายมีสารประกอบไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีนในปริมาณสูง คือกรดนิวคลีอิก หากสารนี้มีปริมาณสูงในเลือด อาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคเกาต์ ปกติแล้วร่างกายจะขับกรดยูริกออกทางไตแล้วปนออกมาในปัสสาวะ แต่กรดยูริกละลายน้ำ ได้น้อยจึงขับออกจากร่างกายได้ช้า ดังนั้น จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้กรดยูริกขับออกทางปัสสาวะได้ง่าย
      สาหร่ายฮีมาโตคอกคัส เป็นสาหร่ายเซลล์เดียวที่มี ไขมันต่ำ มีโปรตีน เส้นใยอาหาร กรดไขมันไม่อิ่มตัว รวมทั้ง วิตามิน เกลือแร่อยู่หลายชนิด แต่มีลักษณะเด่นที่สามารถผลิตสารสีแดง ที่เรียกว่าแอสตาแซนธิน (Astaxanthin) ขึ้นมาเพื่อช่วยปกป้องเซลล์และมีชีวิตรอดอยู่ได้แม้จะอยู่ในสภาวะขาดน้ำและอาหาร จากการรายงานวิชาการทางวิทยาศาสตร์พบว่าคุณสมบัติของแอสตาแซนธินนั้นสามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของออกซิเจนโมเลกุลเดี่ยวหรือมีค่าการต้านอนุมูลอิสระสูง โดยมีประสิทธิภาพสูงกว่าโคเอนไซม์ คิวเทน 800 เท่า สูงกว่าคาทีซิน (เป็นสารในกลุ่มสารประกอบ ฟีนอล (phenolic compounds) มีฤทธิ์เป็นสารต้าน ออกซิเดชั่น (anti-antioxidant) ที่จับกับอนุมูลอิสระ และเป็นสารอินทรีย์ซึ่งสามารถจับกับแร่ธาตุประจุบวกได้
     สาหร่ายสไปรูลินา เป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน สาหร่ายชนิดนี้เป็นรู้จักกันดีเนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีนและเป็นแหล่งของวิตามินบี เหล็ก แร่ธาตุต่างๆ สาหร่ายชนิดนี้ใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับมนุษย์และสัตว์ในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รายงานว่าสาหร่ายสไปรูลินาอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและส่งผลดีต่อระดับไขมันในเลือด รวมถึงระดับคอเลสเตอรอลและ ไขมันชนิดที่ไม่ดีชนิดแอลดีแอล (LDL) ลดต่ำลง และระดับไขมันชนิดเอชดีแอล(HDL) ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีนั้นเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
       การรับประทานสาหร่ายให้ปลอดภัย ควรคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสมต่อการบริโภคซึ่งดูได้จากฉลาก หากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาและทำตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักโภชนาการ นอกจากนี้ควรคำนึงถึงแหล่งผลิตและกรรมวิธีการต้องผ่านการรับรองการผลิตตามมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องปราศจากสิ่งเจอปน เช่น สารพิษโลหะหนัก หรือแบคทีเรีย มิฉะนั้นอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว ภาวะกระหายน้ำ เกิดภาวะช็อก หรืออาจเสียชีวิตได้

อ่านต่อได้ที่ : https://www.ryt9.com/s/nnd/2887162

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จับประเด็น: สั่งห้ามใช้ 3 สารเคมีอันตราย นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสมบ...